วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เขียนบทความจากเรื่องที่ฟัง

แก้ไฟริษยาอย่างไร
“ความริษยา” คือการเห็นเขาได้ดีแล้วทนไม่ได้ เป็นความร้อน เพราะมีความหมายว่า “ทนอยู่ไม่ได้” สิ่งที่ต้องทนนั้นถ้าพอทนได้ก็แสดงว่าไม่ร้ายแรง หรือไม่หนักหนานัก ความรู้สึกริษยาจนทนไม่ได้ ต้องให้ความร้อนอย่างยิ่ง และผู้ที่ได้รับความร้อนอย่างยิ่งนั้นก็มิใช่ผู้อื่น เป็นเจ้าตัวผู้มีความริษยาเอง
ความริษยา เป็นอาการอย่างหนึ่งของกิเลส ปุถุชนเป็นผู้มีกิเลส จึงเป็นธรรมดาที่ไม่สามารถควบคุมความรู้สึกของตนให้เป็นไปโดย ปราศจากกิเลสได้เสมอไป ดังนั้นปุถุชนจึงย่อมยากที่จะควบคุมไว้ได้ไม่ให้เกิด ความริษยาของปุถุชนจึงย่อมเกิดได้เป็นระยะหรือเป็นครั้งคราว ต่อคนนั้นบ้างต่อคนนี้บ้าง ผู้มีปัญญา แม้ไม่สามารถดับความริษยาได้จริง แต่แก้ไขป้องกันควบคุมมิให้เกิดได้ แต่ผู้มีปัญญาเห็นโทษของความริษยาที่ตนได้รับว่า ยิ่งปล่อยให้มีความริษยามาก ตนก็จะได้รับโทษของความริษยามาก ผู้ขาดเมตตาต่อตนเมื่อเห็นเขาได้ดีทนอยู่ไม่ได้ ผู้ที่เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีแล้วเกิดความริษยาที่มักเรียกปนกันไปว่า อิจฉานั้น เป็นผู้ที่ขาดเมตตา โดยเฉพาะแก่ตนเอง เพราะเมื่อความริษยาก่อให้เกิดความร้อนใจ ผู้ยอมให้ความริษยาเกิดขึ้นก็เท่ากับทำใจตนให้ร้อน ไม่มีความสุขจึงเท่ากับไม่มีเมตตาต่อตนเอง ความริษยาจะให้ทุกข์แต่กับผู้มีความริษยาเท่านั้น มิให้ทุกข์ถึงผู้ถูกริษยาด้วย เพราะบางทีความริษยานั้น ก็มิอาจปรากฏออกเป็นการกระทำคำพูดได้ ต้องอัดแน่นเป็นความทุกข์ร้อนอยู่แต่ในหัวใจผู้มีความริษยาเท่านั้น จึงพยายามไม่ให้ความริษยาเกิดขึ้นเสียดีกว่า ความริษยาเกิดแก่ผู้ใด ผู้นั้นก็ย่อมจะเกิดความร้อนรุ่ม ผู้มีปัญญารู้ว่า ความริษยาเป็นความทุกข์เป็นความเร่าร้อนแก่ตนแน่นอน ตรงกันข้ามกับเมตตา ที่ทำให้ความสุขความเย็นแก่ตนแน่นอน และเมตตาก็ดับความริษยาได้ เช่นเดียวกับดับโกรธได้ ดังนั้นผู้มีปัญญาจึงอบรมเมตตา เพื่อให้เพียงพอสำหรับดับความโกรธและความริษยา ความคิดของคนเรานั้นสำคัญนัก แม้การทำให้ความริษยาเกิดหรือไม่ทำให้เกิดให้ความริษยานั้น เกิดจากการที่เราคิดขึ้นเอง หากเรามีเมตตาเมตตา ก็จะไม่เกิดความริษยา ความยินดีด้วยเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีย่อมให้ความสุขแก่ตัวเรา ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ที่เรารัก เป็นลูกหลาน ก็จะพาให้ความยินดีเกิดขึ้นในใจ ความคิดนั้นจะเป็นไปในทางชื่นชมยินดีในผู้ได้ดี เช่นว่า มีความดีความเหมาะควรต่างๆ สมกับความดีที่ได้รับนั้น ยินดีด้วยเมื่อผู้อื่นได้ดีเราเองก็จะมีความสุข เช่นเดียวกับความริษยา ที่ทำให้ความทุกข์แก่ตัวเรา ริษยาเป็นไฟทำให้ใจร้อนใจไหม้ ผู้ที่มีความริษยาแรงเท่าใด การจะแลเห็นความแจ่มใจ ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย
ดังนั้นเรามาดับไฟริษยากันจะดีกว่า ด้วยใช้เมตตาและสันโดษ ความริษยาจะเกิดหรือไม่เกิด จะเกิดเบาหรือเกิดแรง ขึ้นอยู่กับความคิดของเราทั้งสิ้น มิได้ขึ้นอยู่กับอะไรอื่น ผู้มีปัญญาย่อมรู้ว่าใจของตนคิดอย่างไร มีวิธีการควบคุมได้อย่างไร สุดท้ายไฟริษยาก็จะหมดไปจากใจเราอย่างแท้จริง


-------------------------------------
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของศึกษารายวิชา ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลทางเทคโนโลยีสารสนเทศ
เอกสารอ้างอิง

http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=3147

วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ทำผังความคิดเป็นบทความใหม่

เรื่องสิ่งที่พ่อแม่ต้องสอนลูก

ในปัจจุบันนี้มักมีข่าวว่าลูกๆเนรคุณพ่อแม่ ทำร้ายพ่อแม่ เป็นเด็กก้าวร้าว ไม่มีความอ่อนน้อม ขาดคุณธรรมและจริยธรรม ส่วนพ่อแม่เองก็มักจะเรียกร้องให้ลูกมีความกตัญญูต่อพ่อแม่ การที่พ่อแม่จะขอให้ลูกกตัญญูต่อพ่อแม่นั้น พ่อแม่ควรถามตัวเองก่อนว่าได้ทำหน้าที่ตัวเองดีแล้วหรือยัง

สิ่งที่พ่อแม่ควรกระทำต่อลูกนั้น คือ พ่อแม่มีหน้าที่ต้องสอนให้ลูกเป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม ตามคำกล่าวของพระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี ) ที่ท่านได้กล่าวถึงสิ่งที่พ่อแม่ต้องสอนลูกไว้ 5 ประการ อันได้แก่

1. ห้ามปรามลูกจากความชั่ว ห้ามไม่ให้เขาทำชั่วทั้งทางกาย วาจา และใจ

2. อะไรคือความดี ต้องสอนให้ลุกเข้าใจว่าความดีคืออะไร เมื่อทำไปแล้วได้ผลอย่างไร

3. ให้การศึกษาที่ดีแก่ลูก เป็นเกณฑ์สำคัญมาก โดยเริ่มต้นจากที่บ้านก่อน

4. หาคู่ครองที่คู่ควรและเหมาะสมให้แก่ลูกเมื่อถึงเวลาอันสมควร โดยในที่นี้พ่อแม่จะคอยเป็นหูเป็นตาให้ลูก ว่าลูกกำลังคบใคร เขาคนนั้นเป็นคนอย่างไร การศึกษาอยู่ในระดับใด ครอบครัว หน้าที่การงานและฐานะทางสังคมเป็นอย่างไร

5. มอบมรดกให้ลูกเมื่อถึงเวลาอันสมควร ซึ่งมรดกที่กล่าวถึงนั้นก็มีอยู่ 3 อย่างด้วยกัน คือ

- คุณธรรมความดี พ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดีในการประพฤติตนเป็นคนดี มีศีลธรรม แล้วถ่ายทอดให้ลูกโดยการปลูกจิตสำนึกให้กับลูก ให้ลูกได้ซึมซับคุณธรรมความดีจากพ่อแม่

- ชื่อเสียง เกียรติยศ คือสิ่งที่พ่อแม่หรือบรรพบุรุษได้สร้างเอาไว้ พ่อแม่ควรแสดงให้ลูกเห็นและรับรู้ถึงความภาคภูมิใจและความสำคัญความสำคัญ จากนั้นก็สอนให้เขาได้รู้จักการสร้างชื่อเสียง เกียรติยศ และรักษาเกียรติยศที่มีให้คงอยู่สืบไป

- ทรัพย์สมบัติ คือสิ่งที่พ่อแม่ต้องมอบให้ลูกได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไปในอนาคตไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง บ้าน ที่ดิน รถยนต์ เป็นต้น เมื่อให้ลูกไปแล้วพ่อแม่ก็ต้องสอนให้ลูกรู้จักการนำไปใช้ในทางที่ดีและเกิดประโยชน์มากที่สุด

จากการที่ได้กล่าวถึงหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องสอนลูกไว้ข้างต้นแล้วพระมหาวุฒิชัย

(ว.วชิรเมธี) ท่านก็ยังได้กล่าวถึงหน้าที่ของลูกที่ดีไว้ 5 ประการเช่นกัน ซึ่งได้แก่

1. ท่านเลี้ยงเรามาแล้วต้องเลี้ยงท่านตอบ ซึ่งก็หมายความว่าเมื่อเรายังเด็กพ่อแม่เป็นผู้ที่คอยเลี้ยงดู ทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูเรามาเป็นอย่างดีตั้งแต่เรายังเล็ก ให้ความรักการดูแลเอาใจใส่ทุกอย่าง เมื่อเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่พอที่จะสามารถเลี้ยงดูท่านได้แล้ว เราก็ต้องตอบแทนท่านด้วยการดุแลท่านเช่นกัน โดยการดูแลให้ท่านมีชีวิตที่สุขสบายในวัยชราให้ความรักเอาใจใส่เหมือนที่ท่านได้ทำกับเรามาตั้งแต่เด็ก

2. ช่วยกิจการงานของท่าน ลูกมีหน้าที่ที่จะต้องเป็นผู้สืบทอดหรือดำเนินธุรกิจตามรอยที่ท่านเคยทำไว้ โดยทำให้ดีและดีที่สุด เพราะกิจการบางอย่างท่านอาจจะรักและภาคภูมิใจที่ได้สร้างมันมากับมือ ดังนั้นเราควรที่จะช่วยรักษากิจการงานนั้นให้คงอยู่และเจริญรุ่งเรืองสืบไป

3. ดำรงตนให้เป็นคนดีของวงศ์ตระกูล โดยการประพฤติปฏิบัติตนมิให้เป็นการทำลายชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล แต่สิ่งที่ควรทำก็คือ การสร้างชื่อเสียงในทางที่ดีให้แก่วงศ์ตระกูล

4. ประพฤติตนเป็นคนดี การประพฤติตนเป็นคนดีนั้น คือ การที่เราทำตัวเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นคนดีของสังคมและประเทศชาติ

5. ทำบุญให้ท่านเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว คือ การทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้กับท่านซึ่งมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญตักบาตร เลี้ยงพระ หรือในบางครอบครัวทีลูกมีฐานะค่อนข้างดีอาจจะจัดเป็นงานมหากฐินไปเลยก็ได้ แล้วแต่กำลังทรัพย์ ซึ่งจะทำให้ท่านได้รับส่วนบุญส่วนกุศล

นอกจากนี้แล้วยังมีหลักการเพิ่มเติมในการเลี้ยงดูลูก คือ การใช้หลักพรหมวิหาร 4 อันได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เข้ามาช่วยในการเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนลูก การใช้หลักพรหมวิหาร 4 ก็ต้องอาศัยความพอดี ไม่เกินขอบเขต เพราะจะทำให้ลูกได้ใจและคิดว่ายังไงพ่อแม่ก็ไม่ว่าอะไรอยู่แล้ว

จากข้อความเนื้อหาสาระที่ได้บรรยายไว้ข้างต้นทั้งหมดเหล่านี้คือสิ่งที่พ่อแม่ต้องสอนลูกและสิ่งที่ลูกที่ดีต้องทำตาม เป็นหลักง่ายๆที่สามารถทำได้ และทำแล้วได้ผลจริงๆ เมื่อพ่อแม่ต้องการให้ลูกกตัญญูต่อตน พ่อแม่ก็ต้องสอนลูกให้ดี แล้วลูกก็จะเป็นลูกที่มีความกตัญญู ส่วนลูกเองก็ต้องทำหน้าที่ของลูกที่ดีเช่นเดียวกัน กล่าวคือทั้งพ่อแม่และลูกต้องทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด แล้วทุกอย่างก็จะเป็นไปตามที่ทุกฝ่ายต้องการอยากให้เป็น