วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เขียนบทความจากเรื่องที่ฟัง

แก้ไฟริษยาอย่างไร
“ความริษยา” คือการเห็นเขาได้ดีแล้วทนไม่ได้ เป็นความร้อน เพราะมีความหมายว่า “ทนอยู่ไม่ได้” สิ่งที่ต้องทนนั้นถ้าพอทนได้ก็แสดงว่าไม่ร้ายแรง หรือไม่หนักหนานัก ความรู้สึกริษยาจนทนไม่ได้ ต้องให้ความร้อนอย่างยิ่ง และผู้ที่ได้รับความร้อนอย่างยิ่งนั้นก็มิใช่ผู้อื่น เป็นเจ้าตัวผู้มีความริษยาเอง
ความริษยา เป็นอาการอย่างหนึ่งของกิเลส ปุถุชนเป็นผู้มีกิเลส จึงเป็นธรรมดาที่ไม่สามารถควบคุมความรู้สึกของตนให้เป็นไปโดย ปราศจากกิเลสได้เสมอไป ดังนั้นปุถุชนจึงย่อมยากที่จะควบคุมไว้ได้ไม่ให้เกิด ความริษยาของปุถุชนจึงย่อมเกิดได้เป็นระยะหรือเป็นครั้งคราว ต่อคนนั้นบ้างต่อคนนี้บ้าง ผู้มีปัญญา แม้ไม่สามารถดับความริษยาได้จริง แต่แก้ไขป้องกันควบคุมมิให้เกิดได้ แต่ผู้มีปัญญาเห็นโทษของความริษยาที่ตนได้รับว่า ยิ่งปล่อยให้มีความริษยามาก ตนก็จะได้รับโทษของความริษยามาก ผู้ขาดเมตตาต่อตนเมื่อเห็นเขาได้ดีทนอยู่ไม่ได้ ผู้ที่เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีแล้วเกิดความริษยาที่มักเรียกปนกันไปว่า อิจฉานั้น เป็นผู้ที่ขาดเมตตา โดยเฉพาะแก่ตนเอง เพราะเมื่อความริษยาก่อให้เกิดความร้อนใจ ผู้ยอมให้ความริษยาเกิดขึ้นก็เท่ากับทำใจตนให้ร้อน ไม่มีความสุขจึงเท่ากับไม่มีเมตตาต่อตนเอง ความริษยาจะให้ทุกข์แต่กับผู้มีความริษยาเท่านั้น มิให้ทุกข์ถึงผู้ถูกริษยาด้วย เพราะบางทีความริษยานั้น ก็มิอาจปรากฏออกเป็นการกระทำคำพูดได้ ต้องอัดแน่นเป็นความทุกข์ร้อนอยู่แต่ในหัวใจผู้มีความริษยาเท่านั้น จึงพยายามไม่ให้ความริษยาเกิดขึ้นเสียดีกว่า ความริษยาเกิดแก่ผู้ใด ผู้นั้นก็ย่อมจะเกิดความร้อนรุ่ม ผู้มีปัญญารู้ว่า ความริษยาเป็นความทุกข์เป็นความเร่าร้อนแก่ตนแน่นอน ตรงกันข้ามกับเมตตา ที่ทำให้ความสุขความเย็นแก่ตนแน่นอน และเมตตาก็ดับความริษยาได้ เช่นเดียวกับดับโกรธได้ ดังนั้นผู้มีปัญญาจึงอบรมเมตตา เพื่อให้เพียงพอสำหรับดับความโกรธและความริษยา ความคิดของคนเรานั้นสำคัญนัก แม้การทำให้ความริษยาเกิดหรือไม่ทำให้เกิดให้ความริษยานั้น เกิดจากการที่เราคิดขึ้นเอง หากเรามีเมตตาเมตตา ก็จะไม่เกิดความริษยา ความยินดีด้วยเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีย่อมให้ความสุขแก่ตัวเรา ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ที่เรารัก เป็นลูกหลาน ก็จะพาให้ความยินดีเกิดขึ้นในใจ ความคิดนั้นจะเป็นไปในทางชื่นชมยินดีในผู้ได้ดี เช่นว่า มีความดีความเหมาะควรต่างๆ สมกับความดีที่ได้รับนั้น ยินดีด้วยเมื่อผู้อื่นได้ดีเราเองก็จะมีความสุข เช่นเดียวกับความริษยา ที่ทำให้ความทุกข์แก่ตัวเรา ริษยาเป็นไฟทำให้ใจร้อนใจไหม้ ผู้ที่มีความริษยาแรงเท่าใด การจะแลเห็นความแจ่มใจ ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย
ดังนั้นเรามาดับไฟริษยากันจะดีกว่า ด้วยใช้เมตตาและสันโดษ ความริษยาจะเกิดหรือไม่เกิด จะเกิดเบาหรือเกิดแรง ขึ้นอยู่กับความคิดของเราทั้งสิ้น มิได้ขึ้นอยู่กับอะไรอื่น ผู้มีปัญญาย่อมรู้ว่าใจของตนคิดอย่างไร มีวิธีการควบคุมได้อย่างไร สุดท้ายไฟริษยาก็จะหมดไปจากใจเราอย่างแท้จริง


-------------------------------------
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของศึกษารายวิชา ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลทางเทคโนโลยีสารสนเทศ
เอกสารอ้างอิง

http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=3147

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น